top of page

ถ้าอยากมีความสุข คุณกล้าที่จะถูกเกลียด?

Updated: May 14, 2021


วิธีการแก้ปมเสพติดความคาดหวังของคนอื่น = คุณกล้าที่จะถูกเกลียดไหม


คนเรามักจะชอบให้อื่นคนชมเชย เนื่องจากคำชมเชย เปรียบเสมือนยาหอมเป็นกำลังใจให้เรา พอคนอื่นชมเรา ก็ยิ่งอยากทำพฤติกรรมซ้ำเพราะคนอื่นจะได้ชมเราต่อ


แรกๆก็ดูภูมิใจดี แต่พอทำไปเรื่อยๆเรากลับไม่มีความสุขถ้าสิ่งที่เราทำนั้นไม่ใช่ตัวเรา แต่ถึงเวลานั้นเราติด 'กับดักความคาดหวังของคนอื่น' ไปแล้ว


เมื่อเราเสพติดคำชมเชยไปแล้ว เราจะเลือกทำในสิ่งไม่ใช่ตัวเราต่อไปแต่คนอื่นชมเชย หรือ เราจะทำในสิ่งที่เราชอบแต่ไม่ได้ทำตามคำคาดหวังคนอื่น


การเลี้ยงดูแบบชมเชยเมื่อทำดี และดุหรือลงโทษเมื่อทำไม่ดี ตามการทดลองของสกินเนอร์ ถ้าเกิดเหตุการณ์ขึ้นบ่อยๆ จะทำให้คนนั้นมีแนวโน้มที่จะทำสิ่งใดสิ่งนึงเพื่อคาดหวังคำชมเชย หรือ รางวัล และจะไม่กล้าออกนอกกรอบเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ ทำให้เกิดZoneของตัวเองที่ต้องอยู่ภายใต้ความคาดหวังของคนอื่น


เมื่อนั้นคนนั้นๆจะมีความสุขก็ต่อเมื่อความสุขนั้นไปผูกกับคนอื่น และ ทำให้คนคนนั้นไม่มีความสุขที่แท้จริง จนลืมไปแล้วว่าจริงๆ ตัวตน ของเราคืออะไร


ยกตัวอย่างปัญหายอดฮิตของเด็ก Gen Y ก็คือ เรื่องงานและอาชีพ บางทีพ่อแม่อาจจะบอกว่าหวังดีกับลูก อยากให้ลูกเป็นโน้นเป็นนี่ และ เด็กส่วนใหญ่ที่บุคลิกดูประนีประนอม ก็น่าจะเลือกตามทางพ่อแม่ ด้วยเหตุผลต่างๆนานาๆ ทำให้บางทีอาชีพของเรา ถูกผูกเข้ากับความคาดหวังของพ่อแม่


ยกตัวอย่างบางบ้านพ่อแม่อยากให้ลูกเป็นหมอ แต่ลูกไม่อยากเป็น แต่ด้วยคำชมเชยกับความคาดหวัง+ความกดดัน ก็อาจจะทำให้ลูกถึงฝั่งเป็นคุณหมอได้ แต่คำถามที่ย้อนกลับมา คือ 'อันนี้เพื่อตัวลูก' หรือ 'เพื่อพ่อแม่'


พ่อแม่ก็จะตอบว่าเพื่อความมั่นคงของลูก แต่คำถามที่จะย้อนกลับ คือ แล้วลูกมีความสุขรึเปล่า หรือมีทางเลือกอื่นไหม


ความน่าสนใจคือถ้าเราไม่มีความสุข อยากจะทำให้เกิด 'การเปลี่ยนแปลง' แต่เสพติดความคาดหวังและการยอมรับจากคนอื่นจะทำอย่างไร?


ตามหลักจิตวิทยาของฟอรย์ "The child is father of the man” คือ เหตุการณ์ในอดีตทำให้เราเป็นอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งตีความได้ว่าชีวิตถูกลิขิตมาแล้วในอดีตที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้


อย่างไรก็ตามจิตวิทยาแอดเลอร์ได้นำเสนอมุมมองตรงข้ามว่าคนเราเลือก 'ผลมาก่อนเหตุ' ซึ่งคนเราเป็นผู้เลือกการกระทำทุกอย่าง แล้วเอาผลมาอ้างทำให้ผลการกระทำดูชอบธรรมมากขึ้น


ยกตัวอย่าง จิตวิทยาตามฟอรย์ เช่น การที่อยากได้รับคำชม ทำให้เราไม่สามารถเลิกเป็นหมอได้ ส่วนจิตวิทยาของแอดเลอร์ คือ ไม่ได้อยากเลิกเป็นหมอเลยเอาเหตุผลมาอ้างว่าทำเพื่อพ่อแม่ เพราะถ้าอยากเลิกเป็นหมอจริงคงเลิกไปแล้ว


ดังนั้นถ้าเราเชื่อฟอรย์เราจะติดกับปมในอดีตซึ่งกำหนดอนาคต แต่ถ้าเราเชื่อแอดเลอร์เราจะบอกว่าเราเลือกอนาคตเองได้


เพราะฉะนั้นตามหลักแอดเลอร์ เราจึงกำหนดชีวิตเราทุกอย่างได้ แต่เราต้อง 'กล้าที่จะถูกเกลียด', 'กล้าที่จะไม่ได้รับคำชม' และ 'กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง' เพราะเราสามารถกำหนดผลของการกระทำในแต่ละช่วงวินาทีปัจจุบันได้

 

โดย: Kenny Kanawat

bottom of page