top of page

ทำไม Startup ถึงยอมขาดทุน?

Writer: Tanan UdomcharnTanan Udomcharn

กลายเป็น model ธุรกิจที่เห็นได้ทั่วๆไปแล้วว่า Startup ส่วนใหญ่นั้นมักจะยอมขาดทุนยับในช่วงหลายปีแรกๆ

ไม่ว่าจะเป็นเฟสบุ๊คที่เคยขาดทุนติดต่อกัน 4 ปี ไปจนถึงกระทั่ง E-commerce ระดับโลกอย่าง Amazon ที่ขาดทุนติดต่อกันถึง 14 ปี

ในไทยเองก็เห็นได้จากแบรนด์ที่เราใช้บริการกันอยู่ทุกๆวัน ทั้ง Grab, Shopee, Lazada ที่ก็ยังคงขาดทุนกันต่อไป แต่ก็ยังพยายามออกโปรฯลดราคากันมาไม่ขาดสาย

คำถามคือ ทำไมแบรนด์เหล่านี้ถึงได้ "ชอบ" ขาดทุนกันจัง?

(ต้องใช้คำว่าชอบ เพราะถ้าไม่ชอบ คงไม่ผลาญเงินกันขนาดนี้)


คำตอบคือแบรนด์เหล่านี้เลือกทำธุรกิจโดยใช้ model แบบ "โตก่อน กำไรทีหลัง" (โดยโมเดลธุรกิจดังกล่าวแตกต่างจากโมเดลธุรกิจ ที่เราเคยเรียนกันสมัยก่อน ที่จะเน้นการเติบโตและทำกำไรไปพร้อมๆกัน)

 

โมเดลธุรกิจของ startup ในปัจจุบันเน้นการเติบโต โดยไม่สนว่าจะกำไรหรือขาดทุน ในปีแรกๆ ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะ

1. เงินทุนของบริษัท startup เหล่านี้ส่วนใหญ่จะไม่ได้มาจากการกู้ยืม ธนาคาร แต่มาจาก "เงินของนักลงทุน" เป็นหลัก

หากเงินถูกกู้มาจากธนาคาร แน่นอนว่าธนาคารย่อมคาดหวังให้ธุรกิจสามารถทำกำไร เพื่อที่จะสามารถหาเงินมาชำระหนี้ที่ติดค้างตนได้

แต่สำหรับนักลงทุน นักลงทุนเหล่านี้ต่างคาดหวังว่าบริษัทที่ตนเองลงทุนไปจะมีมูลค่ามากขึ้น เพื่อที่เวลาตนเองขายหุ้นทิ้งจะสามารถทำกำไรได้มหาศาล โฟกัสของนักลงทุน จึงอยู่ที่ Valuation หรือมูลค่าของบริษัท มากกว่าความสามารถในการทำกำไรในปีแรกๆ

เมื่อนักลงทุนต้องการเช่นนั้น บอร์ดบริหารก็ต้องบริหารงานตามแบบที่นักลงทุนต้องการ การดำเนินงานส่วนใหญ่จึงเป็นแบบเน้นเติบโ เน้นขยายฐานลูกค้า เน้นเป็นที่ 1 ในใจลูกค้า (Top of mind)

 

2. ธุรกิจ startup ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็น platform

Platform ในที่นี้หมายถึงเป็นเสมือนสถานที่ ที่จะทำการจับคู่ supplier และ customer เข้าหากัน เช่น

- Shopee & Lazada ช่วยจับคู่ผู้ซื้อกับผู้ขายสินค้า

- Grab ช่วยจับคู่ผู้โดยสารกับคนขับรถ

ซึ่งธุรกิจจะไม่สามารถอยู่รอดได้เลยหากจำนวน Supplier มีไม่มากพอ หรือจำนวน customer มีไม่มากพอ

เพราะฉะนั้นเพื่อที่ธุรกิจจะอยู่รอดไปได้จนถึงช่วงที่ทำกำไร แบรนด์เหล่านี้ จึงมีความจำเป็นต้องผลาญเงินจำนวนมากเพื่อดึงดูดผู้ใช้ ทั้งฝั่ง demand และ supply เข้ามาให้ได้มากที่สุด

ไม่ว่าจะเป็นการให้ส่วนลดสำหรับลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้าใหม่

หรือจะเป็นการไม่คิดค่าธรรมเนียมผู้ขาย หรือคิดน้อยมากในปีแรกๆ

 

3. รอทำกำไรเมื่อผู้ใช้ติดแบรนด์แล้ว

อีกหนึ่งสาเหตุที่แบรนด์เหล่านี้ยอมขาดทุนในปีแรกๆ คือ แบรนด์เหล่านี้คาดหวังให้ผู้ใช้ ใช้บริการแบรนด์ของตนให้บ่อยที่สุด ใช้ทุกๆวัน ใช้จนติดเป็นนิสัย ใช้จนถึงขั้น "แม้ไม่มีความต้องการ แต่ก็ต้องเข้าแอพมาทำอะไรสักอย่าง"

สังเกตุจากพฤติกรรมตัวเราเองก็ได้ ในสมัยก่อนตอนเราเริ่มใช้แอพเหล่านี้ใหม่ๆ เราเข้าเฟสบุ๊คมาเมื่อเราต้องการดูอะไรบางอย่าง เราเข้าแอพ shopping เมื่อเราต้องการซื้อของ เราเข้าแอพสั่งอาหารเมื่อเราต้องการสั่งอาหาร

แต่ในทุกวันนี้แค่เราเหม่อ มือของเราก็พาเราเข้าแอพเหล่านี้ไปหาอะไรบันเทิงๆ อ่าน หาอะไรถูกๆซื้อ หาอะไรคุ้มๆกิน โดยที่เราไม่ได้มีความต้องการขนาดนั้นด้วยซ้ำ

เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป การจะทำกำไรด้วยการให้ส่วนลดที่น้อยลง หรือขึ้นราคาสินค้าหลังจากนั้นก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปแล้ว บริษัทจึงได้ยอมทุ่มงบในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคในปีแรกๆก่อน

***อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่ดำเนินการตามโมเดลนี้นั้นย่อมมีความเสี่ยงมาก เราจะเห็นได้ว่ามีหลายๆแบรนด์ที่เคยเป็นกระแส และมีการโฆษณาอย่างใหญ่โต แต่ผ่านไปเพียงไม่กี่ปีแบรนด์เหล่านี้ก็หายไปตามกาลเวลา การที่ธุรกิจเหล่านี้จะอยู่รอดได้ จึงจำเป็นที่เจ้าของธุรกิจจะต้องมีเงินทุนจำนวนมหาศาล เพื่อที่จะช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดผ่านช่วง growth ไปได้นั่นเอง

 

Written by Tanan Udomcharn

Comments


©2022 by Marketing Everywhere

bottom of page